เบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วไปใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยปกติแล้วอาหารที่ทานเข้าไปจะย่อยและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลที่กระเพาะและลำไส้ ซึ่งน้ำตาลจะเข้าสู่กระแสเลือด และเลือดจะนำน้ำตาลไปเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ถ้าร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม น้ำตาลก็จะอยู่ในกระแสเลือด นั้นหมายความว่า คุณเป็นโรค "เบาหวาน”
ชนิดเบาหวาน
เบาหวานชนิดที่1 เป็นภาวะที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่ได้หรือน้อยมาก
เบาหวานชนิดที่2 เป็นภาวะที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่พอเพียง หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินที่ผลิตขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม เรียกว่า “ภาวะดื้ออินซูลิน”
ควบคุมเบาหวานจำเป็นอย่างยิ่ง
เราต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้
- ลดอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ฯลฯ
- ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด หรือภาวะหมดสติจากน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่าง ฯลฯ
- ลดและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เช่น ตา ไต หัวใจ ประสาทส่วนปลาย ฯลฯ
- มีการเจริญเติบโตตามวัยและพัฒนาการทางเพศที่เหมาะสม (สำหรับเด็ก)
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับวัย
- ประกอบอาชีพและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติมีความสุข
หากทำได้ ล้วนเป็นผลดีต่อตัวคุณเองทั้งสิ้น
หลักการรับประทานอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน
- กินอาหารวันละ 3 มื้อ
- กินให้ตรงเวลา
- อย่ากินจุบกินจิบ
- ในแต่ละมื้อให้กินอาหารครบ 6 หมู่ คือ แป้งหรือข้าว เนื้อสัตว์ ไขมัน ผัก ผลไม้ นมจืด
-หลีกเลี่ยงขนม ของหวาน น้ำตาล น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
มาออกกําลังกายกันเถอะ
การออกกําลังกายเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กับการรับประทานอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งการออกกำลังกายเองก็มีสิ่งที่ต้องระวังสำหรับคนเป็นโรคนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการออกกำลังกายในโรคเบาหวาน มีดังนี้
- เพิ่มสมรรถภาพร่างกาย ให้ร่างกายมีสัดส่วนตามปกติ รวมทั้งกล้ามเนื้อยืดหยุ่นแข็งแรง
- ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
- ส่งเสริมกระบวนการใช้น้ำตาล โดยเพิ่มความไวของอินซูลินและเพิ่มความสามารถในการจับน้ำตาลไปใช้ให้แก่กล้ามเนื้อ
- ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ, หลอดเลือดสมอง ลดไขมันในเลือด เป็นต้น
- ลดความเครียด ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- ช่วยป้องกันการเป็นโรคเบาหวานในคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนอ้วน รวมถึงช่วยลดน้ำหนักคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังขณะออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
โดยปกติในช่วงแรกของการออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้น ระดับอินซูลินในเลือดจะลดลงเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการหลั่งฮอร์โมนที่ต้านฤทธิ์อินซูลิน คือ กลูคากอนและแคททีโคลามีน เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลให้เพียงพอ และสลายไขมัน ใช้เป็นพลังงานในการออกกำลังกาย
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีความบกพร่องในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือในทางตรงข้าม ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (ไม่มีการสร้างอินซูลิน) อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ และเกิดภาวะเลือดเป็นกรดที่เป็นอันตรายได้เช่นกัน
1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในผู้ใช้อินซูลินชนิดฉีด มักเกิดในระหว่าง 24 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย
2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะเลือดเป็นกรด อาจเกิดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ออกกำลังกาย ขณะมีระดับน้ำตาลสูงซึ่งไม่ได้ควบคุม
3. ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีความบกพร่องของระบบประสาทอัตโนมัติ
4. ภาวะแทรกซ้อนของตา
5. ภาวะแทรกซ้อนจากไตทำงานบกพร่อง อาจมีปัญหาเกลือแร่ไม่สมดุล ซีด ความดันโลหิตสูง
6. ภาวะแทรกซ้อนของเท้า อาจเกิดการบาดเจ็บเป็นแผลติดเชื้อได้ง่าย
7. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ กระดูก จากการออกกำลังกายไม่เหมาะสม
ดังนั้นขณะออกกำลังกายจึงต้องระมัดระวังเรื่องชนิดของการออกกำลังกายและความหนักเบา และควรมีคนออกกำลังกายเป็นเพื่อน หรือมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด